ท่านสุนทรภู่นั้น เป็นกวีเอกที่ชาวไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี ในฐานะของ ครูกวีเอกคนหนึ่งในสมัยของกรุงรัตนโกสินทร์ เกิดในวันจันทร์ ช่วงเดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ในปีมะเมีย ซึ่งตรงกับ วันที่ 26 เดือนมิถุนายน ในพุทธศักราช 2329 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือในรัชกาลที่ 1 นั้นเอง มารดาของเขานั้นไม่ทราบได้ว่าเป็นคนภูมิลำเนาใด แต่บิดาเป็นคนใน อ.แกลง จ. ระยอง บิดาและมารดาของสุนทรภู่ได้แยกทางกัน
มารดานั้นมีสามีใหม่และมีน้องผู้หญิงอีกสองคน ชื่อนิ่มและฉิม ส่วนบิดาได้กลับไปบวชที่บ้านเกิด มารดานั้นได้มีโอกาสเป็นแม่นมให้กับพระองค์เจ้าจงกล ธิดาของกรมพระราชวังหลัง สุนทรภู่จึงได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในวังและเรียนที่วัดชีปะขาว ซึ่งในปัจจุบันนั้นคือวัดศรีสุดาราม รับราชการเป็นนายระวางพระคลังสวน แต่รู้สึกไม่ชื่นชอบเพราะชอบการแต่งกลอนและสักวาเสียมากกว่าจึงได้ลาออก
สุนทรภู่นั้นได้เกิดมีความรักกับสาวชาววังที่มีนามว่าจัน ในเวลาต่อมา จึงได้ถูกต้องโทษจองจำทั้งคู่ พอพ้นโทษจึงได้แต่งงาน และมีบุตรชาย 1 คน นามว่าพัด และได้ถวายตัวเองให้เป็นมหาดเล็กของพระองค์เจ้าปฐมวงศ์
ซึ่งเป็นพระโอรสของพระราชวังหลัง ความรักของสุนทรภู่นั้นไม่ราบรื่นนักและได้เลิกรากันไปในที่สุด แล้วสุนทรภู่จึงได้เข้ารับราชการกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระองค์ทรงโปรดปรานสุนทรภู่เป็นอย่างมากถึงขนาดตั้งให้เป็น ขุนสุนทรโวหาร เมื่อพระองค์ทรงติดขัดในการแต่งบทกลอนต่างๆ ก็จะให้ ขุนสุนทรโวหารนั้นทำการแต่งต่อให้ หลังจากนั้นไม่นานสุนทรภู่ก็ได้มีบุตรชื่อตาบ กับภรรยาคนใหม่ที่ชื่อนิ่ม แต่ภรรยานั้นก็ได้เสียชีวิตไป มีอยู่ครั้งหนึ่งสุนทรภู่นั้นเมาสุรา จนเกิดการทะเลาะวิวาททำร้ายผู้ใหญ่จนบาดเจ็บ และได้ต้องโทษจำคุก ระหว่างนั้นเองจึงได้ทำการแต่งนิทานเรื่อง พระอภัยมณี เพื่อขายและนำเงินที่ได้มาใช้เลี้ยงชีพ หลังพ้นโทษจึงได้กลับมาเพื่อรับราชการตามเดิม
หลังจากสิ้นรัชกาลที่ 2 ขุนสุนทรโวหารนั้นกลับไม่เป็นที่พึงพอใจของรัชกาลที่ 3 จึงได้ทำการออกจากราชการและตัดสินใจบวชอยู่ 3 พรรษา ก็ต้องโทษถูกขับไล่ออกจากวัดข้อหาเสพสุรา จึงได้ย้ายไปอยู่ที่วัดอรุณราชวราราม เพียงไม่นานก็ต้องทำการย้ายไปอยู่ที่วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม และก็ยังย้ายไปอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ และสุดท้ายจึงได้ไปอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วจึงสึกออกมา โดยตลอดระยะเวลาที่เป็นพระภิกษุนั้นราวๆ 18 – 20 ปี หลังจากสึกก็ระหกระเหินเร่ร่อนไร้บ้านและแต่งกลอนขายไปวันๆ
จนในช่วงปลายของรัชกาลที่ 3 นั้น เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์โปรดฯ ให้สุนทรภู่นั้นไปอยู่ที่ราชวัง จนรัชกาลที่ 4นั้นได้ทรงขึ้นครองราชย์ ก็ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้สุนทรภู่เข้ารับราชการในตำแหน่งเจ้ากรมอาลักษณ์ มียศถาบรรดาศักดิ์เป็น พระสุนทรโวหาร หลังจากรับราชการ 5 ปี สุนทรภู่จึงถึงแก่กรรม ในพุทธศักราช 2398 ในวัยเพียง 69 ปี
โดยในวาระครบ 200 ปีของสุนทรภู่นั้น รัฐบาลไทยได้สืบค้นบรรพบุรุษของไทยผู้ที่มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม และองค์กรยูเนสโก จึงได้ทำการยกย่องให้ “สุนทรภู่” นั้น เป็นบุคคลผู้ดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก และเป็นบุคคลสำคัญของโลกอีกด้วย ในวันที่ 26 เดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2529 และต่อมาอีกหนึ่งปี รัฐบาลจึงได้ทำการประกาศให้ทุกวันที่ 26 มิถุนายน นั้นเป็น “วันสุนทรภู่” และนอกจากนี้สุนทรภู่เองยังได้รับรางวัลกวีอาเซียน ในปี พุทธศักราช 2556 อีกด้วย